Nitrous Oxide or “Laughing Gas”

แก๊สไนตรัสออกไซด์ (Nitrous Oxide: N2O) หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า “แก๊สหัวเราะ (Laughing Gas)” คุณสมบัติของแก๊สโดยปกติจะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่ติดไฟ มีรสหวานเล็กน้อย เมื่อสูดดมแก๊สไนตรัสออกไซด์เข้าไปแล้วจะทำให้รู้สึกมึนงง เคลิบเคลิ้ม สับสน ตัวชา ตาพร้า หรืออาจะวิงเวียนและหมดสติ ผู้ที่สูดดมแก๊สอาจไม่สามารถควบคุมการทรงตัว รวมไปถึงไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อที่ใบหน้าได้ตามปกติ

ในทางการแพทย์และทันตกรรม มีการนำแก๊สไนตรัสออกไซด์มาใช้เพื่อช่วยคนไข้ลดความกังวลและความเจ็บปวดในห้องผ่าตัดและห้องทันตกรรม

***ในการใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์ระหว่างการรักษา แพทย์หรือทันตแพทย์จะต้องคอยควบคุมและตรวจสอบสัญญาณชีพต่าง ๆ ของคนไข้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากคนไข้ได้รับแก๊สไนตรัสออกไซด์เกิดขนาด อาจจะมีผลลัพธ์ถึงชีวิต***

นอกจากนี้ การรับแก๊สไนตรัสออกไซด์ในปริมาณมาก อาจทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซด์ (Lymphocytes) มีปริมาณต่ำ ซึ่งจะส่งผลทำให้ภูมิต้านทานโรคของร่างกายอ่อนแอลง ทั้งยังเป็นการรบกวนการเจริญเติบโตของร่างกาย และทำให้เกิดภาวะ Hyperhomocysteinemia ก็คือภาวะที่มีกรดอะมิโนชนิด Cysteine ในเลือดสูง ทำให้เซลล์ของหลอดเลือดเสียหาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือด

ผลข้างเคียงต่อระบบต่างๆของร่างกาย

  • ผลต่อระบบประสาท: มีอาการชา วิงเวียน ปวดศรีษะ และอาจหูอื้อ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เคลิบเคลิ้ม เกิดความสับสน ซึม หรืออาจเกิดอาการประสาทหลอน
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: ไม่สามารถควบคุมการทรงตัวได้ ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อของใบหน้าได้
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือก: ความดันโลหิตต่ำ หัวใจล้มเหลว เกิดโรคหลอดเลือด
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: ชะลอการสังเคราะห์วิตามินบี 12 ในร่างกาย
  • ผลต่อระบบภูมิต้านทางโรค: ระบบภูมิคุ้มกันโรคต่ำลงเนื่องจากภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocytes) ต่ำ

***ดังนั้น ควรใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น

ข้อควรระวังในการใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้แก๊สชนิดนี้
  • หลังการรับแก๊สไนตรัสออกไซด์ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนเพิ่ม
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีปัญหาด้านทางเดินหายใจ ผู้พิการที่ไม่สามารถสื่อสารหรือตอบสนอง ตอบคำถามของแพทย์ได้ และห้าใช้กับผู้ที่ความดันในสมองสูง
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ระหว่างการใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์ต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ตลอดเวลา
  • ระวังการใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์กับผู้ป่วยโรคปอด ผู้ที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ผู้ที่มีภูมิคุมกันต้านทานโรคต่ำ ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ที่มีภาวะหูหนวกหรือไม่สามารถสื่อสารทางเสียงได้
  • หลังได้รับแก๊สไนตรัสออกไซด์ ต้องสังเกตอาการหลังการรักษาต่างๆ จนแน่ใจว่าปลอดภัย
  • ห้ามใช้แก๊สที่หมดอายุ

ปฏิกิริยาระหว่างไนตรัสออกไซด์และยาตัวอื่น

  • ห้ามใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์ร่วมกับยา Isocarboxazid และ Selegiline เนื่องจากจะทำให้ความดันโลหิตของผู้ป่วยผิดปกติ ควรเว้นระยะเวลาการใช้ยาดังกล่าวและการใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์เป็นอย่างต่ำประมาณ 10-14 วัน
  • ไม่ควรใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์ร่วมกับยา Methotrexate เพราะจะทำให้เกิดอาการ ผิวซีด เลือดออกง่าย อ่อนเพลีย เป็นแผลในช่องปาก อาเจียน อุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะน้อย หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกับยานี้ แพทย์ต้องทำการปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย
  • การใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์กับผู้ที่ได้รับยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เป็นยาเสพติด เช่นยา Codeine หรือ Fentanyl แพทย์จะลดปริมาณการใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์ลงเพื่อได้ฤทธิ์ในการกล่อมประสาทอย่างเหมาะสม และปลอดภัยต่อผู้ป่วย
  • หลีกเลี่ยงการใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์ร่วมกับยา Reserpine เนื่องจากจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากแก๊สไนตรัสออกไซด์รุนแรงขึ้น
โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
17 กุทภาพันธ์ 2560
Tweet

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *